ประเด็นร้อน
ย้อนรอยคดี 'ธนาคารกรุงไทย' ปล่อยกู้ให้กับเครือ บริษัทกฤษดามหานคร
โดย ACT โพสเมื่อ Jun 20,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก เนชั่น - -
ปี 2549 มีการรัฐประหาร และตั้ง คสต.ตรวจสอบเรื่องต่างๆ รวมถึงกรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้กับเครือ บริษัทกฤษดามหานคร และในปี 2551 คสต.หมดวาระลง จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาต่อ และเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 27 คน โดยส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณา แต่ อสส.เห็นว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์ จึงตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง อสส.กับ ป.ป.ช. ซึ่งใช้เวลาพิจารณานานกว่า 4 ปี และต่อมาในเดือนมิถุนายน ปี 2555 อสส.จึงมีมติยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา
เดือนกันยายน 2555 ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้อง และนัดพิจารณาคดีนัดแรก ในเดือนตุลาคม 2555 แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้มารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากอยู่ระหว่างหลบหนีคดีการประมูลซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ของ ธปท. ไปตั้งแต่ปี 2551 ศาลฎีกาฯจึงออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และจำหน่ายคดีชั่วคราว ส่วนจำเลยที่เหลือให้ดำเนินการต่อไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 จนถึงนัดอ่านคำพิพากษาดังกล่าวในวันที่ 26 สิงหาคม 2558
สำหรับการพิจารณาคดีลับหลัง นี้ ตามกระบวนพิจารณา มาตรา 28 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) ฉบับใหม่ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วจำเลยไม่มาศาลและได้ออกหมายจับแล้ว ถ้าไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้
ก่อนหน้านี้ 6 มีนาคม 2561 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยนายไพโรจน์ วายุภาพ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมด้วยองค์คณะผู้พิพากษา 9 คนคดีแปลงสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ตามคดีหมายเลขดำ อม.9/2551 ได้ออกบัลลังก์นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก โดยมีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลย ซึ่งคดีเคยถูกจำหน่ายออกจากสารบบความชั่วคราวเพราะตัวจำเลยหลบหนีคดี
การนำคดีขึ้นมาพิจารณาต่อไป เป็นไปตามกระบวนพิจารณา มาตรา 28 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) ฉบับใหม่ พ.ศ.2560
#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน